Pi STOCK UPDATE : ERW (HOLD : FAIR PRICE Bt4.60)

Published
Share this article:

" คาดกำไรไตรมาส 2/23 ลดลงจากฐานสูง "

กำไรสุทธิไตรมาส 1/23 อยู่ที่ 239 ล้านบาท (เทียบกับขาดทุน 313 ล้านบาทในไตรมาส 1/22 และ กำไรสุทธิ 240 ล้านบาทในไตรมาส 4/22) สอดคล้องกับที่ตลาดคาด และคิดเป็น 48% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีของเรา การพลิกฟื้นจากขาดทุน YoY เป็นผลจากอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักต่อคืน (RevPar) ที่พุ่งขึ้นจากฐานต่ำในไตรมาส 1/22 ส่วนกำไรที่ทรงตัว QoQ เป็นเพราะดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ส่วนแบ่งกำไรและรายได้อื่นที่ลดลง แม้ธุรกิจโรงแรมมีผลประกอบการแข็งแกร่งต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4/22 ขณะที่กำไรไตรมาส 2/23 จะเป็นช่วง low season สำหรับธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะไปฉุดกำไรในเชิง QoQ ลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เราคาดว่ากำไรจะยังสามารถยืนเหนือระดับปี 2019 ได้ เพราะ RevPar ที่โตดีต่อเนื่อง และอานิสงส์จากมาตรการประหยัดต้นทุน ทั้งนี้ หุ้น ERW ยังซื้อขายบริเวณโซนแพงที่ 42.1xPE’23E เทียบค่าเฉลี่ยกลุ่มโรงแรมที่ 32.4xPE’23E (ไม่รวม AWC) ขณะที่กำไรจะมีแนวโน้มแผ่วลง เราจึงคงคำแนะนำ "ถือ มูลค่าพื้นฐาน 4.60 บาท

กำไรไตรมาส 1/23 ยังอยู่บนฐานสูง

• รายได้ธุรกิจโรงแรมแตะยอดสูงใน 4 ปีที่ 1.75 พันล้านบาท (+1%QoQ +175%YoY) โดย RevPar ของกลุ่มโรงแรมหรู (40% ของรายได้ไตรมาส 1/23) ยังแข็งแกร่งที่ 5,255 บาท/คืน สูงกว่าไตรมาส 1/19 อยู่ 6% หนุนจากอัตราราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ที่ยังโตขึ้น 6%QoQ และยืนเหนือไตรมาส 1/19 อยู่ 11% ส่วน RevPar โรงแรมขนาดกลางและชั้นประหยัด (40%) ก็ยังสูงกว่าปี 2019 อยู่ 10% และ 21% ตามลำดับ หนุนจากอุปสงค์ที่อัดอั้นสะสมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วน Hop Inn ในไทยมี RevPar ที่ทำยอดสูงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องที่ 531 บาท/คืน เพราะอัตราการเข้าพักที่ขยายตัวเป็น 81% ส่วน ARR ก็ยังมีแนวโน้มขาขึ้นตามอุปสงค์ท่องเที่ยวในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง สำหรับ RevPar ของโรงแรมในฟิลิปปินส์ก็ขึ้นมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว หลังจากเพิ่ม Holiday Inn Cebu เข้ามาในพอร์ตช่วงเดือน มิ.ย. 2022 ประกอบกับอัตราการเข้าพักของกลุ่มนี้ในภาพรวมที่น่าพอใจระดับ 74% ในไตรมาส 1/23

• EBITDA margin ยังสูงอยู่ที่ 33.0% (33.1% ในไตรมาส 4/22) หนุนจาก ARR ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงและการคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคปรับสูงขึ้นและประเด็นเรื่องบุคลากรภาคธุรกิจโรงแรมที่ขาดแคลน ทว่า EBITDA margin ดังกล่าวยังต่ำกว่า 34.8% ในไตรมาส 1/19

คาดกำไรจะสะดุดในไตรมาส 2/23 ก่อนเริ่มฟื้นตัวอีกรอบ

คาดอัตราการเข้าพักของกลุ่มโรงแรมที่ไม่ใช่ Hop Inn (77% ของ EBITDA ไตรมาส 1/23) จะลดลงแรงในช่วง low season แต่คาดว่า ARR จะยืนเหนือค่าเฉลี่ยปี 2019 ได้อยู่ 20% แต่การปรับลดลงของจำนวนลูกค้าในตลาดหลัก เช่น อเมริกันและคนไทย (มีสัดส่วนอย่างล่ะ 11% ของรายได้จากค่าห้องในไตรมาส 1/23) คาดว่าจะได้รับการชดเชยจากกลุ่มคนจีน (11% ในไตรมาส 1/23 และ 14% ในปี 2019) หลังจากสายการบินจีนมีการเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ผู้บริหารยังคงเป้าหมายผลดำเนินงานไว้เหมือนเดิม ซึ่งเราเชื่อว่าจะทำได้จริง โดย ERW คาดว่า ARR จะโต 20% ในปี 2023 อัตราเข้าพักที่ 75%-80% รายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และรายได้รวมที่ฟื้นตัว 45%YoY (ของเรา +43%YoY) หากพิจารณาร่วมกับการคุมต้นทุนที่ดี ก็คาดว่าจะกำไรสุทธิปี 2023 จะออกมาสูงกว่าปี 2019 ได้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือสภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรม แต่คาดว่าจะบรรเทาลงจากค่าบริการ (service charge) ที่สูงขึ้น ซึ่งจะดึงดูดให้ผู้คนหันมาทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้นได้ และคาดว่าหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกก็จะไม่กระทบกำไรมากนัก

**แผนขยายกิจการที่ไม่น่าตื่นเต้น **

บริษัทมีแผนพัฒนาโรงแรม Hop Inn ในไทย 15 แห่ง และ 3 แห่งในฟิลิปปินส์ในปี 2023 ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ที่ราว 1.6 พันล้านบาท โดยมีแหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดภายใน ซึ่งเราคาดว่าแผนขยายกิจการระยะสั้นจะช่วยสร้าง EBITDA เข้ามาในปี 2024 ได้ราว 140-150 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทกำลังเสาะหาโอกาสในการขยายพอร์ตโรงแรมราคาถูกในสิงคโปร์และญี่ปุ่นอยู่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เราไม่คิดว่า ERW จะมีการลงทุนก้อนใหญ่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพราะมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อเงินทุน (IBD/E) ที่ตึงตัวระดับ 1.7x แล้ว ณ ไตรมาส 1/23 ทั้งยังมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ยังอยู่ในระดับสูงอีกด้วย