CPF (BUY : Fair Price : Bt26.20) : รอลุ้นปีหน้าแทน

Published
15 November 2023
Share this article:

**CPF รายงานผลประกอบการงวด 3Q23 ขาดทุนต่ออีก 1,811 ล้านบาท แม้มีกำไรจากการขายเงินลงทุนและกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมสินทรัพย์ชีวภาพเข้ามา หากไม่รวมจะขาดทุนประมาณ 3,467 ล้านบาท แรงกดดันหลักยังมาจากการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ ขณะที่แนวโน้มช่วง 4Q23 สิ่งที่ต้องติดตามคือในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีราคาในประเทศจะปรับขึ้นได้มากน้อยเพียงใด หลังจากในเดือน ต.ค. ราคายังไม่ดีนัก โดยเบื้องต้นเราคาดว่ามีโอกาสที่จะขาดทุนต่อ ก่อนจะเริ่มฟื้นในปี 24 หลังปัญหาหมูเถื่อนเริ่มคลี่คลาย และต้นทุนที่ลดลง รวมแล้วเราจึงปรับขาดทุนปกติในปี 23 ขึ้นเป็น 12,763 ล้านบาท ส่วนปี 24 ปรับกำไรลดลง 23% มาอยู่ที่ระดับ 6,183 ล้านบาท ส่วนคำแนะนำการลงทุน ระยะสั้นรอติดตามราคาเนื้อสัตว์ในประเทศว่าจะฟื้นเมื่อใด จึงแนะนำเพียง “เก็งกำไร” และประเมินมูลค่าเหมาะสมได้ใหม่ที่ 26.2 บาท **(0.9XPBV’24E)

3Q23 ขาดทุน 1,811 ล้านบาท

• CPF ขาดทุนช่วง 3Q23 อีก 1,8111 ล้านบาท เพิ่มจาก 792 ล้านบาทใน 2Q23 และพลิกจากที่มีกำไรสุทธิ 5,108 ล้านบาทใน 3Q22 แต่ถ้าไม่รวมกำไรจากการขายเงินลงทุนและกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์ชีวภาพ จะขาดทุนประมาณ 3,467 ล้านบาท ต่ำกว่าที่เราคาดไว้ว่าจะขาดทุนมากกว่า 4,000 ล้านบาท

• รายได้อยู่ที่ 144,498 ล้านบาท (-10%YoY,-4%QoQ) แรงกดดันหลักมาจากราคาเนื้อสัตว์ในประเทศลดลงแรง โดยสุกรลดลง 38%YoY,14%QoQ ส่วนไก่ลดลง 15%YoY,-16%QoQ ส่วนราคาที่เวียดนามลดลง 9%YoY แต่ดีขึ้นเล็กน้อย 4%QoQ

• กำไรขั้นต้นเหลือ 10.8% จาก 15% ใน 3Q22 และ11% ใน 2Q23 สาเหตุหลักจากราคาในประเทศที่ลดลงขณะที่ต้นทุนแม้ลดลงแต่ยังมีต้นทุนเดิมเหลืออยู่ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ 14,709 ล้านบาท (-2%YoY,+2%QoQ)

• ส่วนแบ่งจากบริษัทร่วมพลิกมามีกำไร 528 ล้านบาท ลดลง 77%YoY เพราะ CTI พลิกมาขาดทุนหลังราคาสุกรที่จีนลดลง แต่พลิกจากที่ขาดทุน 893 ล้านบาทใน 2Q23 แต่ดีขึ้นจากที่ขาดทุน 893 ลบ. ใน 2Q23 เพราะราคาสุกรที่จีนดีขึ้น (+10%QoQ) รวมถึงผลประกอบการของ Hylife ที่ขาดทุนลดลงหลังมีการปิดโรงงานที่ไม่ทำกำไรไปแล้ว

• ดอกเบี้ยจ่าย 6,377 ล้านบาท (+16%YoY,+4%QoQ) เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

• รวมแล้วในช่วง 9M23 CPF มีรายได้ 438,525 ล้านบาท (-4%YoY) และมีผลขาดทุน 5,328 ล้านบาท ส่วนถ้าไม่รวมรายการพิเศษจะขาดทุนถึง 10,418 ล้านบาท

**4Q23 ลุ้นราคาเนื้อสัตว์หลังจากนี้ **

• แนวโน้มในช่วง 4Q23 เรายังมองเช่นเดิมกับรายงานฉบับก่อนหน้านี้ ที่ว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยบวกคือต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาข้าวโพดที่ล่าสุดเริ่มมาแตะระดับ 10 บาท/กก. ได้แล้ว ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ในประทศเริ่มดีขึ้นบ้างในส่วนของราคาสุกรที่ปรับตัวมาอยู่ในระดับ 68 บาท/กก. หลังจากที่เดือน ต.ค.มีการอ่อนตัวลงไปทีระดับ 60 บาท/กก. ส่วนราคาต่างประเทศที่เวียดนามราคาลดลงเล็กน้อยเช่นเดียวกับที่จีน ทำให้มีโอกาสที่ผลประกอบการจะขาดทุนต่ออีกไตรมาส