Pi STOCK UPDATE : OSP (HOLD : FAIR PRICE Bt29.00)

Published
11 August 2023
Share this article:

" ส่วนแบ่งตลาดมีสัญญาณฟื้นตัวดี "

กำไรสุทธิไตรมาส 2/23 อยู่ที่ 549 ล้านบาท (-9%YoY, -29%QoQ) ฉุดจากยอดขายเครื่องดื่มในประเทศที่ลดลง กำไรที่ลดลง QoQ เป็นผลจากการขาดหายไปของรายได้เงินปันผลจาก Unicharm หากไม่รวมเงินปันผลนี้ กำไรปกติจะปรับดีขึ้น 15% QoQ จากยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังในไทยที่ฟื้นตัวและอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ปรับดีขึ้น อานิสงส์จากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น ด้านส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของ OSP อยู่ที่ 47.5% ในไตรมาส 2/23 โดยเราคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น QoQ ในครึ่งหลังปี 2023 หลังจากแตะจุดต่ำไปที่ 46.6% เมื่อไตรมาส 1/23 แต่เรายังคงคำแนะนำ "ถือ" มูลค่าพื้นฐาน 29.00 บาท เพราะราคาปิดมี upside จำกัดต่อมูลค่าพื้นฐานของเรา

กำไรไตรมาส 2/23 ลงทั้ง QoQ และ YoY

• กำไรสุทธิไตรมาส 2/23 อยู่ที่ 549 ล้านบาท (-9%YoY, -29%QoQ) สอดคล้องกับประมาณการของเราและ Bloomberg consensus โดยกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2023 คิดเป็น 53% ต่อประมาณการกำไรทั้งปี 2023 ของเรา

• ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของไทยในไตรมาส 2/23 โตแตะ 2.1 หมื่นล้านบาท (+4.4%YoY) หนุนจากแคมเปญการจัดโปรโมชั่นและการขึ้นราคาขายปลีกจากคู่แข่งรายสำคัญอย่าง 'กระทิงแดง' ในเดือน มี.ค. 2023 ส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของ OSP ในไตรมาส 2/23 ลดลงเหลือ 47.5% จาก 49.0% ในไตรมาส 2/22 สืบเนื่องจากกลยุทธ์การจำหน่ายสินค้าพรีเมี่ยม (ขวดละ 12 บาท) แต่ในเชิง QoQ ปรับดีขึ้นจาก 46.6% ในไตรมาส 1/23 เพราะอานิสงส์จากสินค้าเปิดตัวใหม่ในเดือน ส.ค. 2022 (M150 รสน้ำผึ้ง ขวดละ 10 บาท)

• มูลค่าตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพลดลงเหลือ 7.9 พันล้านบาท (-14.5%YoY) ในไตรมาส 2/23 เพราะอุปสงค์ต่อสินค้าเพื่อสุขภาพที่อ่อนแอหลังพ้นช่วง COVID-19 ส่วนแบ่งของ OSP ในตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพไทยลดลงเหลือ 42.1% ในไตรมาส 2/23 จาก 44.6% ในไตรมาส 2/22 แต่ C-Vitt ยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นในตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีมาอยู่ที่ 67.5% ในไตรมาส 2/23 จาก 66.8% ในไตรมาส 1/23 และ 65.7% ในปี 2022

• รายได้ไตรมาส 2/23 อยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท (-7%YoY, +3%QoQ) สืบเนื่องจากยอดขายธุรกิจระหว่างประเทศที่โตเป็น 1.4 พันล้านบาท (+7%YoY) แต่ไม่สามารถชดเชยยอดขายเครื่องดื่มในประเทศที่ลดลงเหลือ 4 พันล้านบาท (-10%YoY)

• GPM ปรับดีขึ้นเป็น 34.0% ในไตรมาส 2/23 จาก 31.2% ในไตรมาส 2/22 และ 33.4% ในไตรมาส 1/23 หนุนจากการปรับตัวลดลงของค่าใช้จ่ายคงที่อันเนื่องมาจากการปิดสายการผลิต 1 หน่วยลง (จาก 7 หน่วย) และอานิสงส์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง QoQ

• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร (SG&A) ต่อยอดขายในไตรมาส 2/23 เพิ่มเป็น 24.8% จาก 23.0% ในไตรมาส 2/22 จากค่าใช้จ่ายการโฆษณาที่สูงขึ้น แต่ดีขึ้น QoQ จาก 26.0% ในไตรมาส 1/23

คงคำแนะนำ "ถือ" พ้นจุดต่ำแล้วแต่ยังมี upside จำกัด

มูลค่าพื้นฐาน 29.00 บาท คำนวณด้วยวิธีคิดลดเงินสด (DCF) (WACC 8.0%, TG 3%) อิง 29xPE’24 ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 3 ปี

บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.40 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ 1.4%