Pi STOCK UPDATE : CENTEL (BUY : FAIR PRICE Bt54.00)

Published
15 August 2023
Share this article:

" คาดกำไรไตรมาส 3/23 หดตัวก่อนฟื้นตัวดีในไตรมาส 4/23 "

กำไรสุทธิไตรมาส 2/23 อยู่ที่ 121 ล้านบาท หากไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) กำไรปกติจะอยู่ที่ 83 ล้านบาท (+275%YoY -86%QoQ) ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาด 49% และ 64% ตามลำดับ ซึ่งมีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคาดสืบเนื่องจากการเริ่มดำเนินงานในช่วงต้นของโรงแรม Osaka มูลค่ารวม 105 ล้านบาท (รวมค่าเสื่อม) เราคาดว่ากำไรไตรมาส 3/23 จะยังมีแนวโน้มหดตัวเพราะการรับรู้ค่าใช้จ่ายจากโรงแรมใหม่ในระดับใกล้เคียงกัน ขณะที่มีค่าเช่าจ่ายภายใต้สัญญาเช่าใหม่ในส่วนของโรงแรมหัวหินที่สูงขึ้น และมีการปิดให้บริการโรงแรมบางส่วนในพื้นที่สำคัญ ๆ แต่คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวดีในไตรมาส 4/23 เพราะเป็นช่วง high season ทั้งนี้มูลค่าหุ้นของ CENTEL ยังน่าดึงดูดแม้ราคาจะขึ้นไปแล้ว 9% ในช่วงเดือนก่อน หรือซื้อขายกันที่ 27.5xPE’24 ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 28.2xPE แต่ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่นในปี 2024 เราจึงคงคำแนะนำ "ซื้อ"

กำไรไตรมาส 2/23 ลดลงแรง QoQ จาก low season

• รายได้ธุรกิจโรงแรม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการ) ลดแตะจุดต่ำในรอบ 3 ไตรมาสที่ 1.9 พันล้านบาท (+46%YoY -25%QoQ) การโตต่อเนื่อง YoY เป็นเพราะฐานต่ำในไตรมาส 2/22 ส่วนเหตุผลที่กำไรลดลง QoQ เพราะเป็นช่วง low season ที่ฉุดอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักต่อคืน (RevPAR) กลุ่มโรงแรมไทยลง 25% จากไตรมาส 1/23 อย่างไรก็ดี RevPAR ไตรมาส 2/23 ยังสูงกว่าไตรมาส 2/19 อยู่ 8% เพราะอัตราราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ยังสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 อยู่ 20% ส่วนผลงานพอร์ตธุรกิจโรงแรมในมัลดีฟส์หดตัวลงแรงทั้ง QoQ และ YoY เพราะตลาดมัลดีฟส์สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันหลังจากประเทศอื่นกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ บวกกับค่าตั๋วโดยสารที่ปรับเพิ่มขึ้นจนไปฉุดอุปสงค์การท่องเที่ยวที่มัลดีฟส์ลง (RevPAR ธุรกิจมัลดีฟส์ลดลง 52%QoQ และ 27%YoY)

• ค่าใช้จ่ายจากการเริ่มให้บริการโรงแรมใน Osaka และค่าใช้จ่ายการเช่าภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวในส่วนของเซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลล่าหัวหินที่สูงขึ้น คือปัจจัยฉุดกำไรลง QoQ ซึ่งโครงการทั้ง 2 นี้คือสาเหตุที่ดันดอกเบี้ยจ่ายขึ้นแตะยอดสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 274 ล้านบาท (+55%YoY +47%QoQ)

• รายได้ธุรกิจอาหารแตะยอดสูงในรอบ 16 ไตรมาสที่ 3.2 พันล้านบาท (+9%YoY+5%QoQ) เพราะการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่บวก 5% เทียบ +19% ในไตรมาส 2/22 และ +8% ในไตรมาส 1/23 ตามลำดับ ส่วนการบริโภคในประเทศและอุปสงค์การทานอาหารในอาคารที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นยังเป็นตัวที่ช่วยหนุนการเติบโตด้านรายได้ของธุรกิจอาหารอยู่ สำหรับ EBITDA margin ฟื้นจากจุดต่ำที่ 18.1% ในไตรมาส 1/23 มาอยู่ที่ 18.9% เพราะคาดว่าต้นทุนสาธารณูปโภคและต้นทุนอาหารบางประเภทที่ลดลง แต่ก็ยังต่ำกว่า 22.6% ในไตรมาส 2/22 เพราะค่าไฟฟ้าและต้นทุนวัตถุดิบหลัก เช่น แป้งสาลีและไก่เนื้อ ต่างมีฐานที่สูง

คาดกำไรจะสะดุดในไตรมาส 3/23 ก่อนเข้าสู่ high season ในไตรมาส 4/23

• เราคาดว่ากำไรไตรมาส 3/23 จะลดลง QoQ เพราะประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจาก 1) การเริ่มดำเนินงานในช่วงแรกของเซ็นทาราแกรนด์โอซาก้าที่ให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 ก.ค. 2023 และ 2) การรับรู้ค่าเช่าจ่ายเต็มไตรมาสภายใต้สัญญาเช่าใหม่ในส่วนของเซ็นทาราแกรนด์ หัวหินที่ขยายเวลาออกไปอีก 30 ปี (มีผลวันที่ 15 พ.ค.) สำหรับกิจการโรงแรมอื่น ๆ คาดว่ากำไรจะยังเผชิญแรงกระแทกจากช่วง low season ทั้งในไทยและมัลดีฟส์ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าจะเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. 2023 ก็ตาม ยิ่งกว่านั้น การปรับปรุงห้องพักบางส่วนใน โครงการเซ็นทารากะรน รีสอร์ท ภูเก็ต และ มิราจ พัทยาในไตรมาส 3/23 (15% ของรายได้ธุรกิจโรงแรมช่วงก่อนเกิด COVID-19) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดรายได้ธุรกิจโรงแรมลง ทั้งนี้ เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิที่ 1.5 พันล้านบาท (+205%YoY) เพราะคาดว่า RevPAR ธุรกิจโรงแรมช่วงปลายไตรมาส 3/23 และ 4/23 จะยังสูงกว่าปี 2019 อยู่เกิน 10% บวกกับ EBITDA margin ธุรกิจอาหารที่ฟื้นตัวขึ้น เพราะต้นทุนอาหารที่เริ่มลดลงจากฐานสูง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็ว (15% ของจำนวนแขกทั้งหมดในแง่ของคืนที่เข้าพักในโรงแรมของบริษัทช่วงปี 2019) น่าจะกลายเป็นปัจจัยหนุนช่วยสร้าง upside เพิ่มเติมได้ในช่วงสิ้นปี 2023