TFM (BUY : Fair Price : Bt8.60) : ปรับกลยุทธ์ใหม่ กำไรฟื้นตัวต่อเนื่อง

Published
08 November 2023
Share this article:

**ผลประกอบการงวด 3Q23 เห็นการฟื้นตัวในแง่ความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการปรับปรุงการขายใหม่โดยเน้นสินค้าที่มีกำไรมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 52 ล้านบาท (-9%YoY,+10%QoQ) โดยแนวโน้มช่วง 4Q23 คาดว่าหลังจากราคากุ้งเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาลงกุ้งมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ในอนาคตทาง TFM ยังมีแผนขยายสินค้าไปยังกลุ่มอาหารปลานิลและกุ้งก้ามกามมากขึ้น ขณะที่ต่างประเทศที่อินโดนีเซียยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ส่วนที่ปากีสถานเตรียมขยายอาหารกุ้งเพิ่ม ทั้งนี้เราปรับกำไรในปี 24 ขึ้นจากเดิม 43% มาอยู่ที่ 239 ล้านบาท (+88%YoY)เพื่อสะท้อนถึงผลดีจากการปรับโครงสร้างที่เห็นตั้งแต่ 2Q23 ที่ผ่านมา **

**3Q23 มีกำไรสุทธิ 52 ล้านบาท (-9%YoY,10%QoQ) **

• TFM รายงานกำไรสุทธิงวด 3Q23 52 ลบ. (-9%YoY,+10%QoQ) ถ้าไม่รวมเงินสำรองต่างๆกว่า 20 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งมาจากสำรองหนี้เสียที่อินโดนีเซียประมาณ 7 ล้านบาท) และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 4 ล้านบาท กำไรปกติจะอยู่ที่ระดับ 69 ล้านบาท (+3%YoY,+14%QoQ) ขยายตัวได้ดีหลังกำไรขั้นต้นฟื้นมาอยู่ที่ 11%

• รายได้อยู่ที่ 1,306 ลบ. (-5%YoY,-3%QoQ) ได้รับแรงกดดันหลักจากธุรกิจอาหารกุ้งที่ลดลง 7%YoY,-17%QoQ หลังจากราคากุ้งตกต่ำในช่วง ขณะที่อาหารปลาลดลง 6%YoY เพราะปรับลดสินค้าที่มีกำไรต่ำออกไป และอาหารปลาที่ปากีสถานลดลงจากผลกระทบของราคาปลาในประเทศที่ตกต่ำ แต่ฟื้นตัวต่อเนื่องจาก 2Q23 อีกถึง 23%QoQ หลังอาหารปลากระพงขายดีขึ้น ส่วนอาหารสัตว์บกรายได้โตขึ้น 7%YoY,5%QoQ จากการที่บริษัทในปากีสถานหันมาทำอาหารสัตว์บกมากขึ้น

• กำไรขั้นต้น 11.1% ใกล้เคียงกับปีก่อน และเพิ่มจาก 9% ใน 2Q23 และ 4% ใน 1Q23 เป็นผลจากการปรับสัดส่วนสินค้าเน้นที่มีกำไรมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารปลา ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 85 ลบ. (-11%YoY,-10%QoQ) ลดลงมากในส่วนของค่าาใช้จ่ายในการบริหาร

• รวม 9M23 TFM มีรายได้ 3,802 ล้านบาท (+4%YoY) และมีกำไรสุทธิ 73 ล้านบาท (-22%YoY)เน้นสินค้าที่มีกำไรดีเป็นหลัก พร้อมทำอาหารสัตว์อื่นเพิ่ม

• กลยุทธ์ของ TFM ในช่วง 4Q23 ต่อเนื่องถึงปี 24 ผู้บริหารยังคงเน้นการขายสินค้าที่มีกำไรสูงอย่างอาหารกุ้งและปลากระพง เป็นหลัก โดยคาดว่าหลังจากราคากุ้งเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา จะเป็นตัวหนุนให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงกุ้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนทำอาหารสัตว์ชนิดอื่นเพิ่มอย่างเช่นอาหารปลานิล หรืออาหารกุ้งก้ามกาม เพิ่มจากที่ปัจจุบันเน้นปลากระพงและกุ้งขาว ส่วนในต่างประเทศที่น่าติดตามคือที่ TUKL หลังจากผู้บริหารพบว่าตลาดที่โรงงานตั้งอยู่มีความต้องการ อาหารสัตว์สูงถึง 24,000 ตัน/เดือน เทียบกับกำลังการผลิตของ TUKL ที่มี 2,500 ตัน/เดือน ทำให้มีโอกาสเพิ่มการขายได้อย่างมาก ซึ่งทาง TFM มีการนำสินค้าจากไทยเข้าไปทดลองตลาด ซึ่งเบื้องต้นได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้คาดว่ายอดขายจะเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ 4Q23 เป็นต้นไป